โรคลมชัก (epilepsy) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองบริเวณผิวสมอง
กล่าวคือ หากกระแสไฟฟ้าในสมองเกิดการลัดวงจรหรือเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้น
จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทตามมาจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
อย่างเช่น ถ้าเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนของการควบคุมกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งกระตุกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต ชักแบบเป็น ๆ หาย ๆ
หรือบางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจหมดสติหรือไม่หมดสติก็ได้
แต่บางคนก็อาจมีพฤติกรรมนิ่ง เหม่อลอย
สาเหตุของโรคลมชัก
·
เกิดจากกรรมพันธุ์
โดยจากการซักประวัติครอบครัวของผู้ป่วยส่วนหนึ่งพบว่า
มีญาติพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน
·
เกิดจากการที่สมองเคยได้รับอันตรายมาก่อน เช่น
มีการติดเชื้อในสมอง ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
การติดเชื้อของระบบประสาท ความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด หรือสมัยเด็กเคยมีไข้สูงจนชักนาน
และชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้
อาจจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติร่วมด้วย
·
เกิดจากภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง
พยาธิในสมอง
·
โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ แตกหรือตีบตัน
·
โรคทางกาย เช่น
ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ แคลเซียมในเลือดต่ำ
รวมถึงโรคตับโรคไต
·
การดื่มเหล้ามากเกินไปจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
การเสพยาเสพติดเกินขนาด หรือได้รับสารพิษจากการใช้ยาบางชนิดเกินขนาด เป็นต้น
อาการของโรคลมชัก
จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า
โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมาก ขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองไปผิดปกติในสมองส่วนใดและรุนแรงแค่ไหน
เช่น
·
หากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วน
จะทำให้เกิดอาการชักกระตุกหรือเกร็งเฉพาะที่ในขณะที่ยังรู้ตัวอยู่
ซึ่งคนกลุ่มนี้หากตรวจภาพของสมองด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว
มีโอกาสสูงที่จะพบเนื้องอกในสมอง
หรืออาจมีอาการหลอดเลือดผิดปกติในสมองมาตั้งแต่กำเนิด
·
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
และไปรบกวนสมองทั่วไปในวงกว้าง ไม่รู้ว่าจุดที่ปล่อยไฟฟ้าออกมารบกวนเริ่มที่จุดใด
จะทำให้ผู้ป่วยชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ
หรือชักแบบแน่นิ่งแบบที่พบได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวขณะชัก
อีกทั้งยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย อาการนี้จะเรียกว่า
"ลมบ้าหมู" บางคนอาจมีอาการตาค้าง ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก ล้มลงกับพื้น
ขากรรไกรแข็ง กัดริมฝีปากกัดลิ้นตัวเองจนเลือดออก
มีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย บางคนอาจเป็นอยู่ 1-3 นาที
แต่บางคนอาจเป็นนานถึง 15 นาที
·
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนที่ควบคุมการมองเห็น
จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นแสงจ้าในขณะที่มีอาการชัก
·
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณสมองส่วนควบคุมจิตใจ
จะทำให้มีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไป เช่น เกิดภาพในอดีตวิ่งผ่านสมองเข้ามา
เกิดความรู้สึกเดจาวู เหมือนคุ้นเคยแต่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยไป
หรืออาจจำคนรู้จักไม่ได้ รู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า
·
ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเหม่อลอย หมดสติ
ทำอะไรไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อ
·
ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายคนไข้จิตเวช เช่น อยู่
ๆ ก็หัวเราะขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาการเช่นนี้แสดงว่าเป็นลมชักแบบพิเศษ
ที่เรียกว่า Gelastic
Epilepsy เกิดจากสมองส่วนไฮโปทารามัส
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก
·
การใช้ยา
เป็นการรักษาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กและผู้ใหญ่
เพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ
แพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน
ซึ่งจะใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี จนกว่าจะไม่มีอาการชัก
แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ลดขนาดยาลงจนกระทั่งหยุดยาได้ โดยที่ผู้ป่วย 60-70%
สามารถหายขาดจากโรคลมชักด้วยยา ขณะที่มีผู้ป่วยราว 20-30% สามารถกลับมาชักได้ใหม่
ก็จำเป็นต้องกินยากันชักต่อไปตลอดชีวิต
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กินยากันชักต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
อย่าหยุดยาเอง ยากินยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชักโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
เพราะยาบางชนิดอาจไปต้านหรือเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้
และต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงที่เกิดจากการกินยากันชักด้วย
·
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในต่างประเทศ
และนิยมทำในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อยา และไม่สามารถจะรักษาโดยการผ่าตัดได้
วิธีการโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย
และกระตุ้นผ่านเส้นประสาทบริเวณคอ
·
การควบคุมอาหารเพื่อรักษาโรคลมชักในเด็ก
เป็นการรักษาทางโภชนบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับ ketone ในร่างกายสูง
ลักษณะอาหารจะมีไขมันค่อนข้างสูงและมีโปรตีนต่ำ วิธีการนี้จึงเหมาะสมกับเด็ก
เนื่องจากพ่อแม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารและตรวจปัสสาวะได้ตลอดเวลา โดยจะทำให้มีสาร
ketone และสารดังกล่าวจะใช้ได้ผลในผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง
ซึ่งมีอาการชักค่อนข้างรุนแรง จะทำให้อาการชักดีขึ้นประมาณ 60-70%
และจะพบคนไข้ที่ไม่มีอาการชักเลยในระหว่างที่มีการให้อาหารชนิดนี้ประมาณ 30%
สำหรับโรคลมชักในผู้ใหญ่จะไม่นิยมวิธี ketogenic diet เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไขมันค่อนข้างสูง
·
การผ่าตัด
ในผู้ป่วยที่ดื้อยาหรือมีพยาธิสภาพในสมองที่ชัดเจน
แพทย์พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดสมอง
โดยจะวิเคราะห์ผู้ป่วยอย่างละเอียดจากทีมสหสาขา
และกระบวนการตรวจที่ทันสมัยพร้อมเทคนิคใหม่ ๆ
ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายจากชักสูงมาก โดยที่ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
ในรายที่การรักษาทางยาไม่ได้ผลหรือผ่าตัดรักษาไม่ได้
ก็อาจจะใช้วิธีการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://health.kapook.com/view4982.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น