โรคสมองขาดเลือด

สมองขาดเลือด  (STROKE)  ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคสำคัญที่พบได้บ่อยในสังคมเรา และกลายเป็นปัญหาหนักต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อครอบครัวของผู้ป่วย รวมทั้งต่อสังคมโดยทั่วไปด้วย โรคนี้จะทำให้เกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการพูดและ/หรือการมองเห็น ภาวะสมองขาดเลือดมีสาเหตุจากการที่ร่างกายไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือด ส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารอื่นไม่สามารถขึ้นไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ หลังจากนั้นเซลล์สมองก็จะตายในเวลาเพียงสั้นๆ
นอกจากนี้ ภาวะสมองขาดเลือดอาจเกิดขึ้นจากการมีเลือดออกในสมองเนื่องจากภาวะหลอดเลือดแตก ซึ่งอัตราการเกิดขึ้นของกรณีนี้มีประมาณ 12% ของภาวะสมองขาดเลือดทั้งหมด
ความรุนแรงของภาวะสมองขาดเลือดจะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ถูกทำลาย โดยธรรมชาติแล้วสมองด้านซ้ายจะควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกขวาและการพูด โดยสมองด้านขวาควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย

อาการของภาวะสมองขาดเลือด

ภาวะสมองขาดเลือดอาจไม่ได้ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อทุกเซลล์ทันทีหลังเกิดการอุดตันที่เส้นเลือดในสมอง ดังนั้นถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะสามารถรักษาเซลล์ต่างๆ ให้ทำหน้าที่เหมือนเดิมได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถรักษาและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือดเสียแต่เนิ่นๆ ภาวะสมองขาดเลือดก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

สัญญาณเตือนของภาวะสมองขาดเลือด

  • มีความผิดปกติทางการมองเห็นที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยมีอาการตั้งแต่การมองเห็นภาพไม่ชัดจนถึงภาวะตาบอดช่วงสั้นๆ
  • อาการอ่อนแรงของนิ้วมือ มือ หรือทั้งแขนและขา หรือที่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง หากเป็นขั้นรุนแรงก็อาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีก
  • มีความบกพร่องทางการพูดช่วงคราว หรือระบบการทำความเข้าใจผิดปกติ
  • เกิดอาการต่อไปนี้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน ได้แก่ รู้สึกเวียนศีรษะ มองไม่ชัด คลื่นไส้อาเจียน ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง และมองเห็นภาพซ้อน
  • อาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสียหายชั่วคราวที่เกิดขึ้นกับการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง
  • เกิดอารมณ์สับสนเป็นเวลานานโดยไม่มีอาการหมดสติ
สาเหตุของภาวะสมองขาดเลือด

สาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยของการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ก็คือการตีบหรือแตกของเส้นเลือดในสมองหรือหลอดเลือดหลักที่ลำคอซึ่งจะนำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงที่สมอง ภาวะดังกล่าวมักเป็นผลจากภาวะผนังหลอดเลือดแดงหนาและมีความยืดหยุ่นน้อยลง การเป็นเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ ซึ่งนำไปสู่การทำลายผนังหลอดเลือด ผลที่ตามมาคือช่องว่างในหลอดเลือดจะลดน้อยลงมาก

ปัจจัยเสี่ยง
  • ความดันเลือดสูง
  • ระดับไขมันเลือดสูง
  • เบาหวาน
  • การสูบบุหรี่
  • ความอ้วน
  • โรคเก๊าท์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด

การป้องกัน
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ
  • งดสูบบุหรี่
  • ตรวจความดันเลือดอยู่เสมอ ความดันโลหิตสูงต้องได้รับการตรวจและควบคุม
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะถ้าคุณต้องทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อย
  • ผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรงดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bumrungrad.com/th/men-health-center-bangkok-thailand/conditions/stroke

ความคิดเห็น