สมองพิการ (cerebral palsy) หรือที่นิยมเรียกตามตัวย่อว่า CP
เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างถาวรในสมองที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและท่าทาง
โดยที่การบาดเจ็บในสมองนั้นจะต้องเป็นชนิดคงที่ไม่รุนแรงมากขึ้น
โดยปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยเด็กสมองพิการมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดของแพทย์ที่มากขึ้น
ทำให้ทารกแรกเกิดคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย
ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดสมองพิการ มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น
สาเหตุของการเกิดสมองพิการ
·
การบาดเจ็บของสมองเกิดได้ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอด
ระหว่างคลอด และหลังคลอด อย่างไรก็ตามมีประมาณ 1ใน 3
ของผู้ป่วยเด็กสมองพิการที่ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน
1.
ระยะก่อนคลอด
อาจเกิดจากความผิดปกติของสมองทารกในครรภ์แต่กำเนิด การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์
เช่น หัดเยอรมัน หรือเชื้อไวรัสอื่นๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
มีปัญหาทางระบบหลอดเลือด ปัญหาทางเมตาบอลิก หรือมารดาได้รับสารพิษบางอย่าง เป็นต้น
2.
ระยะระหว่างคลอด
อาจเกิดจากการคลอดยาก รกพันคอ ภาวะตกเลือด ขาดออกซิเจนแรกคลอด คลอดก่อนกำหนด
น้ำหนักแรกคลอดน้อย ติดเชื้อ ตัวเหลือง น้ำตาลต่ำ สมองได้รับบาดเจ็บ
หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด เป็นต้น
3.
ระยะหลังคลอด
อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ทำให้สมองได้รับความเสียหายบางส่วน หรือเกิดจากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
เป็นต้น
อาการของเด็กที่มีภาวะสมองพิการ
· มีพัฒนาการล่าช้า
· มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขนขา
ทำให้ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก แขนขาเกร็ง เดินได้อย่างยากลำบาก
เดินปลายเท้าเขย่ง บางคนเกร็งมากจนทำให้เกิดความเจ็บปวด มีกระดูกและข้อผิดรูป
อาจเกิดภาวะข้อเคลื่อนหรือข้อหลุดตามมาได้
· ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง
อาจมีตัวอ่อนปวกเปียก ส่งผลให้ไม่สามารถทรงตัวในท่านั่ง ยืน หรือเดินได้
·
· การดูดกลืน,
ดูดนม ทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เคี้ยวอาหารไม่ได้
และเสี่ยงต่อการสำลัก
· มีปัญหาด้านการพูด
· ความผิดปกติอื่นๆ เช่น สติปัญญาบกพร่อง
ความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าปกติ มีปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน
ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า หรือมีอาการชัก ร่วมด้วย
การรักษาภาวะสมองพิการ
การดูแลรักษาเด็กที่มีภาวะสมองพิการ
จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของตัวเด็กเอง ครอบครัว และทีมผู้รักษา
โดยการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เล็กๆ
จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่ารักษาเมื่อเด็กมีอายุมากแล้ว
ซึ่งการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจต้องพิจารณาจากความรุนแรงของภาวะสมองพิการ
และอายุของผู้ป่วยร่วมด้วย
การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กสมองพิการ
เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพ
ซึ่งประกอบด้วยกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา
ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น
แนวทางการดูแลรักษาเด็กที่มีภาวะสมองพิการ มีดังนี้
·
การทำกายภาพบำบัด
เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่ปกติหรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น การหดรั้งของกล้ามเนื้อและข้อต่อ
การผิดรูปของกระดูก เป็นต้น
·
การฝึกกิจกรรมบำบัด
เพื่อเพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกการดูดกลืน ทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน
และการช่วยเหลือตัวเอง เป็นต้น
·
การแก้ไขการพูดด้วยการฝึก
·
การรักษาด้วยยา
เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
·
การรักษาด้วยการผ่าตัด
เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การย้ายเอ็น หรือการผ่าตัดกระดูก
·
การรักษาอื่นๆ
เช่น การแก้ไขปัญหาสายตาและการได้ยิน การรักษาภาวะชัก และการรักษาด้านจิตเวช
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยของท่านมีอาการผิดปกติข้างต้น
ควรรีบพาลูกน้อยเข้ารับการตรวจประเมินอย่างละเอียด
เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น