เนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย
ตั้งแต่เด็กเล็กๆ วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง
แต่อาจมีผู้ป่วยบางรายที่พบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็น
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมองจะทำให้มีญาติพี่น้องเป็นโรคทุกคน
ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น
การเป็นมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกายซึ่งมีโอกาสกระจายไปที่สมอง โดยทั่วไป
เนื้องอกในสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เนื้องอกของเซลล์ที่อยู่ที่สมองเอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชนิดที่เป็นเนื้อร้ายกับชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย
โดยส่วนใหญ่มักพบชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้ายมากกว่า
- เนื้องอกที่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกายและลุกลามมาที่สมอง
อาการของโรคเนื้องอกในสมอง มีหลายรูปแบบ แต่อาการที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย
ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคทางสมองประมาณ 60-70% จะมีอาการปวดศีรษะอยู่แล้ว
แต่สำหรับโรคเนื้องอกในสมองจะมีอาการเฉพาะเจาะจง เช่น
- อาการปวดศีรษะติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร
อาจจะหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- อาการปวดศีรษะตอนกลางคืน
จนอาจทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
- อาการอ่อนแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือมีการทำงานของเส้นประสาทบางเส้นอ่อนแรงไป ส่วนใหญ่อาการนี้มักค่อยเป็นค่อยไป
และจะมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา เช่น แขนอ่อนแรง
อาจเริ่มจากอ่อนแรงเล็กน้อย เมื่อเวลาผ่านไปก็อ่อนแรงมากขึ้น
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหน้าเบี้ยวหรือหูไม่ได้ยินได้
- อาการที่เกิดจากมีการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท เช่น อาการกระตุก ชัก โดยเฉพาะอาการชักเฉพาะที่ เช่น ชักเฉพาะแขน หรือชักเฉพาะขา หรือมีหน้ากระตุกอย่างเดียว เป็นต้น หรืออาการชักในผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน ก็อาจมีสาเหตุจากเนื้องอกได้เช่นกัน
แนวทางการรักษาเนื้องอกในสมอง มีอยู่ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออกไป ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว พบว่าเป็นเนื้อร้ายก็อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ดังนั้น
หากมีสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายที่อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง เช่น
อาการปวดศีรษะเรื้อรังที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการกระตุก
ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
นพ.วีระศักดิ์
ธีระพันธ์เจริญ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางระบบประสาทและสมอง
ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น